ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

        หัวใจของการผลิตข้าวฮางงอกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ คือ การใส่ใจคุณภาพการผลิตในทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูกข้าวแต่ละสายพันธุ์มาจนถึงการจำหน่าย ข้าวฮางงอกได้รับการนิยมเพราะมีสารอาหารที่ไม่เหมือนข้าวทั่วไป ทำให้คนกินแล้วต้องกินต่อ คือ ต้องสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าและมีความหลากหลาย บริหารจัดการภายในกลุ่มให้ดี ประชาสัมพันธ์ทำการตลาดให้เกิดความเชื่อมั่น ศึกษาพัฒนาให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง และทำเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน


ด้านเงินทุน สมาชิกภายในกลุ่มรวมหุ้นกันเพื่อซื้ออุปกรณ์และเครื่องจักร และได้ขอรับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลโดยจัดทำโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายช่วยเหลือจากรัฐ เช่น ที่ว่าการอำเภอโพนนาแก้ว 1 โครงการ สหกรณ์การเกษตรโพนนาแก้ว 2 โครงการ ได้เงินประมาณ 700,000 บาท สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร 3 โครงการ ได้เงินประมาณ 1,000,000 บาท การสนับสนุนจากราชการส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์เครื่องจักรที่ผ่านการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง แต่ทางกลุ่มจะเป็นผู้จัดซื้อเองเพราะจะได้เครื่องจักรที่มาตรฐานตามกำลังผลิตในวงเงินที่รัฐจัดสรรให้
ด้านการตลาด ปัจจุบันทางกลุ่มให้ความสำคัญกับการขายข้าวฮางในระบบออนไลน์มากขึ้นผ่านทาง Face book และ Line ประมาณ 70% โดยจะจัดส่งสินค้าให้ทางไปรษณีย์หรือรถรับส่งพัสดุ ลูกค้าจะเป็นร้านค้าขายข้าวสารและผู้บริโภคโดยตรง นอกจากนั้นยังส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ และฮ่องกง และออกบูธขายในงานมหกรรมสินค้าต่างๆทางรัฐบาลหรือทางจังหวัดจัดขึ้น
ด้านการผลิต ทางกลุ่มจัดซื้อเครื่องจักรมาช่วยแรงงานคน คือ เครื่องทำความสะอาดข้าวเปลือก เครื่องสีข้าว 3 เครื่อง เครื่องแยกขนาดของเมล็ดข้าว 2 เครื่อง และเครื่องอัดสุญญากาศ ทุกขั้นตอนในการผลิตจะต้องเอาใจใส่ในรายละเอียด ต้องใช้คนตรวจสอบและประธานกลุ่มมาตรวจดูอีกครั้ง
ด้านบริหารจัดการ แบ่งการทำงานออกเป็นฝ่ายดังนี้ ฝ่ายเหรัญญิก ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายจัดเตรียมวัตถุดิบ ฝ่ายผลิต ฝ่ายแปรรูป ฝ่ายการตลาด และฝ่ายเลขานุการ ทุกฝ่ายเมื่อทำงานของเสร็จจะมาช่วยเหลืองานฝ่ายอื่น แบ่งเงินให้เป็นเดือน และปันหุ้นให้เมื่อสิ้นปี ถ้ามียอดสั่งเยอะทางกลุ่มจะจ้างงานคนในหมู่บ้านมาช่วยผลิต
ด้านผู้นำ ประธานชื่อนางสุขสวรรค์ พละบารมีธรรมช์ เกิดปี 2505 อายุ 54 ปี อาศัยอยู่บ้านโนนกุง ต.เชืองสือ อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร การศึกษาจบมัธยม มส.5 จากโรงเรียนสกลราชวิทยานุกุล จบปริญญาตรีสาขาคุรุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี รับราชการครูบรรจุเมื่อปี 2527 ปัจจุบันสอนอยู่ที่ โรงเรียนบ้านโนนกุง ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายอำนวยการของโรงเรียน มีผลงานครูสอนจริยธรรมดีเด่น จัดทำโครงการต่างๆหลายโครงการ ผ่านการอบรมพัฒนาศักยภาพหลายโครงการ
ด้านกฎระเบียบ ทางกลุ่มวิสาหกิจทำข้อตกลงร่วมกัน เช่น เวลาเข้าทำงาน การปฏิบัติงานไม่สูบบุหรี่ ถ่มน้ำลาย เคี้ยวหมากผรั่ง ผู้ผลิตต้องไม่เป็นโรคติดต่อ ตรวจสุขภาพปีละ1 ครั้ง การลางาน การดูแลรักษาความสะอาด การรับเงินตอบแทน บุคคลภายนอกต้องได้รับอนุญาตก่อนเข้าไปในบริเวณผลิต เป็นต้น
ด้านเครือข่าย ทางกลุ่มวิสาหกิจได้สร้างเครือข่ายผู้ปลูกข้าวมีจำนวนประมาณ 300 คน สร้างเครือข่ายการตลาด ร้านค้าปลีก เช่น โรงสีข้าว ร้านขายข้าวสาร เครือข่ายออนไลน์ มีเครือข่ายภาครัฐ เช่น มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สหกรณ์กรการเกษตรอำเภอโพนนาแก้ว และเครือข่ายเอกชน เช่น ไปรษณีย์ บริษัทรับส่งพัสดุ เป็นต้น

ความคิดเห็น

บทความ mo.skn

บทความ 1Poverty