ความเป็นมาการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

ข้าวฮางเป็นกรรมวิธีการเก็บถนอมรักษาข้าวเต็มเมล็ดไว้กินได้นานๆ ของชาวชนเผ่าภูไท จังหวัดสกลนคร นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญ นอกจากจะได้ข้าวที่มีคุณสมบัติดี มีสารอาหารสูงมากแล้ว ยังเป็นข้าวที่เก็บไว้กินได้นาน ชาวภูไทนำโดยท้าวผาอินอพยพมาจากเมืองเก่าทางฝั่งซ้ายของลำแม่น้ำโขงประมาณ 200 ปีผ่านมาแล้ว เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่บริเวณอำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร ท่านมีลูกหลานหลายคน เลี้ยงวัว ทำไร่ ไถนา เมื่อเกิดวิกฤตข้าวไม่พอรับประทานยังเหลือเวลานานกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยว จึงได้เก็บข้าวที่ใกล้จะสุก เริ่มจะออกเหลืองอ่อนๆ นำมาผ่านกรรมวิธีตามภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะการทำให้สุกโดยการนึ่ง เตาที่ใช้นึ่งจะขุดดินทำเป็นร่องหรือราง (ฮาง) เพื่อเป็นที่ใส่ฟืน ทำเป็นปากปล่องสำหรับให้เปลวไฟขึ้น และทำเป็นร่องดินสำหรับตั้งหมอนึ่ง ภาษาอีสานเรียกว่า “เตาฮาง” ดังนั้นข้าวฮางจึงเป็นชื่อเรียกตามลักษณะนามของเตาที่ใช้นึ่งข้าว การทำข้าวฮางของบรรพบุรุษของชนเผ่าผู้ไทจะแช่ข้าวเปลือกให้นิ่ม แล้วนำมานึ่งให้สุก นำไปตากแดดให้แห้งเพื่อจะเก็บไว้รับประทานได้นาน เป็นการป้องกันมด มอดที่จะมากันกินเมล็ดข้าว และเป็นการแก้ไขปัญญาข้าวไม่พอกินก่อนถึงฤดูเก็บเกี่ยว
คุณสุขสวรรค์ พละบารมีธรรมช์ ประธานกลุ่ม

คุณสุขสวรรค์ พละบารมีธรรมช์ หรืออาจารย์ตุ๊ก เป็นคนบ้านโนนกุงตั้งแต่กำเนิดมีเชื้อสายภูไท ได้ทำการศึกษาข้อมูลและสอบถามวิธีการทำข้าวฮางจากคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านโนนกุงและใกล้เคียง จึงชวนชาวบ้านที่ว่างงานและสนใจมารวมกลุ่มกันทำข้าวฮางขั้น ตอนแรกมีสมาชิก 5 คน เริ่มทดลองในต้นปี 2550 ใช้พื้นที่บริเวณบ้านของอาจารย์ตุ๊กเป็นที่ผลิต ภายในกลุ่มได้รวมเงินกันซื้ออุปกรณ์ในการผลิตประมาณ 300,000 บาท ได้ลงมือทำตามคำแนะนำ ตอนแรกทำอย่างเดียว คือ ข้าวฮางงอกข้าวเหนียว โดยทำไว้กินเอง แจกจ่ายให้กับชาวบ้าน และจำหน่าย ต่อมาผู้บริโภคต้องการข้าวที่หลากหลายมากขึ้น ทางกลุ่มจึงทดลองข้าวเหนียวดำโดยซื้อมาจากชาวบ้านในพื้นที่มาทดลองทำ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก อาจารย์ตุ๊กมีความคิดที่จะตั้งเป็นกลุ่มวิสากิจชุมชนขึ้น จึงได้ทำเรื่องขอกับสำนักงานเกษตรอำเภอโพนนาแก้ว แต่ตอนนั้นทางรัฐยังไม่เห็นความเป็นรูปธรรมของกลุ่มว่าจะไปรอดหรือไม่ เพราะพึ่งทำได้ไม่ถึงปีเลยยังไม่อนุมัติให้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจได้


ด้วยความมุ่งมั่นที่จะตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้ได้ สมาชิกทุกคนจึงได้ร่วมกันพัฒนาในทุก ๆ ด้าน เช่น สถานที่ อุปกรณ์เครื่องจักร ขั้นตอนการผลิต การรักษาความสะอาด กฏระเบียบ เป็นต้น และได้รับการอนุมัติในเวลาต่อมา จดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชื่อ วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตข้าวฮางงอกหอมสกลทวาปี บ้านโนนกุง (NG SAKON TAWAPEE GABARICE MANAPACTURER COMMUON CNTERPRISE) ที่ตั้งเลขที่ 151 หมู่ที่ 3 ต.เชืองสือ อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร รหัสไปรษณีย์ 47230 โทรศัพท์ 0-8560-7450 รหัสทะเบียน 4-47-17-05/1-0011 จดทะเบียนวันที่ 13 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2552 ที่สำนักงานเกษตรอำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร โดยมีคุณสุขสวรรค์ พละบารมีธรรมช์ เป็นประธานกลุ่ม (ภาพประกอบหน้าที่ 25) ต่อมาอาจารย์ตุ๊กต้องการคนมาช่วยงานเพิ่มจึงชักชวนคนในหมู่บ้านและผู้ที่สนใจมาเข้าร่วมกลุ่ม ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมดจำนวน 20 คน และได้ตั้งกลุ่มผู้ปลูกข้าวปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 300 คน กลุ่มวิสาหกิจจะเป็นคนรับซื้อข้าวเปลือกโดยให้ราคาที่สูงกว่าโรงสีทั่ว ๆ ไป
หนังสือรับรองเป็นวิสาหกิจชุมชน

ทางหน่วยงานเกษตรอำเภอเล็งเห็นถึงความสำคัญในการปลูกข้าวให้หลากหลายสายพันธ์จึงเข้ามาช่วยส่งเสริมและให้ความรู้ในการปลูกให้กับสมาชิกโดยทดลองปลูก 2 สายพันธุ์คือข้าวหอมมะลิแดง และข้าวหอมนิล จำนวน 100 ไร่ และเริ่มขยายจนถึง 3 หมู่บ้าน จนปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูก จำนวน 500 ไร่ และมีพันธ์ข้าวที่ปลูกทั้งหมด 6 ชนิด คือ ข้าวจ้าว ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวเหนียวดำ และข้าวเหนียว กข6
ต่อมากลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ ได้จดทะเบียนพาณิชย์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 ชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชย์ เอ แอนด์ พี ข้าวเพื่อชีวิต ในนามของ นางพรสวรรค์ พูนทองอินทร์ ชนิดรับซื้อข้าวเปลือก ผลิต จำหน่วย และแปรรูปข้าวเพื่อสุขภาพเป็นข้าวฮางงอก ข้าวฮางงอกบด โจ๊กข้าวฮางงอก ข้าวฮางงอกกรอบปรุงรส (ภาพประกอบหน้าที่ 25) ทำให้สมาชิกและชาวบ้านโนนกุงทุกคน มีความภาคภูมิใจกับบรรพบุรุษที่คิดค้นวิธีทำข้าวฮางรักษาและสืบทอดมาถึงรุ่นปัจจุบัน ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ จะตั้งใจผลิตและพัฒนาต่อยอดให้ข้าวฮางมีชื่อเสียงระดับโลกให้ได้
หนังสือจดทะเบียนพาณิชย์

ความคิดเห็น

  1. รับประทานข้าวฮางงอกให้เป็นยา ดีกว่าเสียเงินซื้ออาหารเสริมแพงๆ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

บทความ mo.skn

บทความ 1Poverty